ความหวัง SME แก้หนี้-ลดค่าไฟ-เงินดิจิทัลปั๊มจับจ่าย
คอลัมน์ : สัมภาษณ์
โควิดแพร่ระบาดมานานกว่า 3 ปี ต่อเนื่องด้วยต้นทุนค่าไฟฟ้าเพิ่มสูงขึ้น ปัญหาหนี้ภาคครัวเรือนทำให้กำลังซื้อลดลง ส่งผลกระทบต่อ SMEs อย่างเลี่ยงไม่ได้ ความหวังในการผ่านพ้นวิกฤต SMEs ฝากไว้กับรัฐบาล “เศรษฐา 1” ที่มาจากการเลือกตั้ง ว่าจะมีนโยบายเพื่อแก้ปัญหาให้กับ SMEs หนึ่งในฟันเฟืองขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้ยืนหยัดต่อไปได้อย่างไร “ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์ “นายแสงชัย ธีรกุลวาณิช” ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย
คาดหวังหน้าตาทีม เศรษฐกิจ
ทีมเศรษฐกิจควรมีความเป็นผู้นำ ทันสมัย มีความสามารถใช้นวัตกรรม ออกแบบนโยบายและบริหารความเสี่ยง วางกลยุทธ์ในการสร้างรายได้ให้กับประเทศ รวมถึงใช้งบประมาณที่มีจำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุด ด้วยความซื่อสัตย์ โปร่งใส ตรวจสอบได้ แสวงหาความร่วมมือกับทุกภาคส่วน
“เราหวังว่ารัฐบาลจะออกแบบมาตรการส่งเสริมการลงทุน SMEs ที่เป็นประโยชน์ และเข้าถึงได้อย่างแท้จริง ไม่เน้นกระตุ้นเศรษฐกิจที่แจกเงิน แต่มุ่งเน้นเศรษฐกิจสร้างสรรค์ บ่มเพาะ การใช้ภูมิปัญญา กระจายโอกาส กระจายรายได้จากการพัฒนาผู้ประกอบการทุกระดับอย่างยั่งยืนควบคู่ไปด้วยกัน”
5 ความคาดหวัง SMEs
เอสเอ็มอีมีความคาดหวังกับ 5 เรื่องด่วน 1.การฟื้นฟูเศรษฐกิจฐานราก กระจายรายได้สู่ท้องถิ่น ทั้งการขยายสัดส่วน GDP SMEs ที่ลงลึกถึงสัดส่วน GDP ผู้ประกอบการรายย่อยที่มีเพียง 3% ของ GDP ทั้งประเทศ แต่มีสัดส่วนผู้ประกอบการรายย่อยถึง 85% ประมาณ 2.7 ล้านราย จ้างงานกว่า 5 ล้านคน
2.การเข้าถึงแหล่งเงินทุนต้นทุนต่ำ และการแก้ปัญหาคุณภาพหนี้ครัวเรือน หนี้เสีย และหนี้นอกระบบ 3.การลดต้นทุนพลังงานไฟฟ้า น้ำมัน ก๊าซอย่างเป็นระบบ ที่สะท้อนความเป็นธรรมกลไกราคาต้นทุน ลดพึ่งพาการนำเข้า
4.การยกระดับขีดความสามารถเอสเอ็มอี เพื่อเพิ่มผลิตภาพ ยกระดับค่าจ้างที่เป็นธรรมตามผลิตภาพ
แก้ปัญหาหนี้-ตั้งกองทุน SMEs
อย่างที่ให้ข้อมูลมาโดยตลอดว่า การจัดชั้นหนี้ NPLs ทั่วไป และรหัส 21 ควรกำหนดวงเงินหนี้ จัดประเภทขนาดธุรกิจ เพื่อให้เหมาะสมกับการบริหารจัดการให้คำปรึกษา แนะนำ ช่วยเหลือ อาทิ NPLs วงเงินรวมไม่เกิน 100,000 เป็นรายย่อย และต้องมีกระบวนการในการให้ความช่วยเหลือ ให้โอกาสฟื้นฟูต่างจาก NPLs 1-10 ล้านบาท หรือมากกว่านั้น เป็นต้น เพื่อไม่ให้ผู้ที่เป็น NPLs และต้องการฟื้นฟูติดเครดิตบูโร
ขณะเดียวกัน ต้องมีการตั้งกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเอสเอ็มอีไทย แก้ไขปัญหาเอสเอ็มอี NPLs รหัส 21 โดยแบ่งกลุ่มรายย่อย รายย่อม รายกลาง ให้ชัดเจนในการพิจารณา ประเมิน และช่วยการถอดบทเรียน ออกแบบแผนธุรกิจ restart ที่เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบันและอนาคต ในทุกๆ ด้านนอกจากนี้ ขอให้แก้ไขปัญหาดอกเบี้ยที่เป็นธรรมกับเอสเอ็มอี ที่มีช่องว่างอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก กับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ รวมถึงการประเมินความเสี่ยงให้เกิดความโปร่งใสกับผู้เป็นลูกค้าของสถาบันการเงินต่าง ๆ รวมทั้ง non bank ด้วย
นโยบายขึ้นค่าแรง
สำหรับนโยบายขึ้นค่าแรง 600 บาท ภายในปี 2570 นั้นต้องมีความชัดเจนในแผน roadmap 2566-2570 จะมีมาตรการ วิธีการอะไรในการรองรับ อาทิ การจูงใจแรงงานนอกระบบประมาณ 20 ล้านคนเข้าระบบ การเพิ่มผลิตภาพมาตรฐานแรงงาน โดยพัฒนาทักษะ สมรรถนะอย่างเป็นระบบ ร่วมกันกับการพัฒนาผู้ประกอบการ ให้มีขีดความสามารถเพิ่มขึ้น การเข้าถึงการพัฒนาคุณภาพ มาตรฐาน การสร้างสรรค์และนวัตกรรม รวมทั้งตลาดให้เติบโต ที่สำคัญคือ ต้องรับฟังผู้มีส่วนร่วมทุกภาคอย่างรอบด้าน และสร้างกลไกที่จะไม่ก่อให้เกิดผลกระทบเชิงลบกับ เศรษฐกิจฐานราก
“digital wallet แรงงานขั้นต่ำ 600 บาทต่อวัน ภายในปี 2570 และเงินเดือนปริญญาตรี 25,000 บาท ต้องมีการออกแบบกำหนดเป้าหมาย วัตถุประสงค์ กระบวนการ ผลลัพธ์ รับฟังความเห็นอย่างรอบด้าน และสร้างกลไกที่ไม่กระทบต่อเศรษฐกิจฐานราก”
นอกจากนี้ ยังต้องเตรียมความพร้อมรองรับด้านผลิตภาพแรงงาน ขีดความสามารถเอสเอ็มอีที่จะเผชิญหน้ากับอุปสรรค ปัญหา ด้านต่าง ๆ
เงินดิจิทัล 1 หมื่นบาทปั๊มเศรษฐกิจ
ส่วนนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ อย่างเงินดิจิทัล 10,000 บาท อายุ 16 ปี ขึ้นไป 50 ล้านคน ควรกำหนดกลุ่มเป้าหมายที่จำเป็นต่อการช่วยเหลือ อาทิ แรงงานรายวัน แรงงานนอกระบบ ผู้ที่มีรายได้ต่ำ กลุ่มเปราะบาง และประเมินวงเงินงบประมาณที่จะใช้ เพื่อไม่ให้กระทบต่อภารกิจอื่น ๆ
อีกทั้งการใช้จ่ายในรัศมี 4 กิโลเมตร อาจมีประเด็นกับผู้ที่มีถิ่นที่อยู่อาศัยห่างไกลออกไป และควรระบุแบ่งวงเงินให้ชัดเจนในการใช้กับสินค้าวิสาหกิจชุมชน สหกรณ์ ร้านค้าชุมชน ร้านค้าปลีกเอสเอ็มอี สินค้าเอสเอ็มอี เพื่อให้เม็ดเงินอัดฉีดและหมุนเวียนเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจฐานรากเพิ่มมากขึ้น
ลดค่าไฟช่วยลดต้นทุน SMEs
การปรับลดค่าไฟและน้ำมันทันที จะเป็นนโยบายที่ดีมาก ตอบโจทย์ปัญหากับการลดภาระค่าครองชีพประชาชน และต้นทุนธุรกิจของผู้ประกอบการ สิ่งสำคัญ 2 เรื่องคือ 1.การจัดวางระบบโครงสร้างต้นทุนพลังงานไฟฟ้า น้ำมัน และราคาที่เหมาะสม เป็นธรรม สามารถตรวจสอบได้ 2.แผนการปฏิรูปโครงสร้างพลังงานสีเขียวของประเทศไทย เพื่อลดต้นทุน ลดการนำเข้าพลังงาน ส่งเสริมเศรษฐกิจสีเขียว ทั้งยังสร้างความยั่งยืน มั่นคงด้านพลังงานให้กับประชาชนและประเทศชาติ
“หากสนับสนุน solar cell ที่ผลิตในประเทศไทย ภาครัฐจัดสรรงบประมาณให้เพียงพอต่อความต้องการ ลดการใช้พลังงานไฟฟ้าฟอสซิล ทำให้การใช้พลังงานสีเขียวขยายตัวอย่างรวดเร็ว สร้างความเข้าใจ ใช้ประโยชน์ และเข้าถึง carbon credit market เพื่อให้ธุรกิจปรับให้ทันกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลกที่มาอย่างรวดเร็ว โดยไม่ทำให้โอกาสกลายเป็นอุปสรรค หรือมาตรการกีดกันทางการค้า”