เปลี่ยนภาษา

สำหรับเจ้าหน้าที่

เอสเอ็มอี ฝากใจ รบ. ‘เศรษฐา 1’ ขานรับ 3 นโยบาย จี้ 4 เรื่องร้อนเร่งแก้เพื่อลดวิกฤต

เอสเอ็มอี ฝากใจ รบ. ‘เศรษฐา 1’ ขานรับ 3 นโยบาย จี้ 4 เรื่องร้อนเร่งแก้เพื่อลดวิกฤต

เมื่อวันที่ 10 กันยายน นายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย เปิดเผยถึงนโยบายที่รัฐบาลจะแถลงต่อรัฐสภา ในวันที่ 11 กันยายนนี้ ที่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีอยากเห็นนั้นว่า 3 มาตรการดีที่เอสเอ็มอีขานรับที่เน้นกระตุ้น ฟื้นฟู ดูแลฐานราก กระชากเศรษฐกิจไทย ซึ่งประกอบด้วย

1.ลดภาระค่าครองชีพ ลดค่าไฟ ดีเซล เป็นมาตรการที่ประชาชนและผู้ประกอบการจะได้รับประโยชน์อย่างยิ่ง และต้องทำให้เกิดความยั่งยืน ซึ่งการลดค่าพลังงานไฟฟ้าและน้ำมันดีเซลจะต้องดำเนินการ 3 ระยะ คือ ระยะเร่งด่วนภายใน 30 วัน ระยะกลาง ภายใน 3-6 เดือน คือ การจัดหาแหล่งวัตถุดิบพลังงานที่มีต้นทุนเหมาะสม การปรับโครงสร้างต้นทุนการผลิต โครงสร้างราคาขายให้สอดคล้องกับความเป็นจริงที่เป็นธรรม และระยะยาวภายใน 1-3 ปี การพัฒนาโครงสร้างพลังงานไฟฟ้าและน้ำมันของประเทศไทยที่ต้องมีมาตรการระยะยาวส่งเสริม สนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และภาคประชาชน ให้ชุมชนได้มีพลังงานไฟฟ้าแสงอาทิตย์ชุมชน หรือพลังงานสีเขียวชุมชนใช้ ปรับเปลี่ยนจากพลังงานฟอสซิลที่พึ่งพาการนำเข้าก๊าซธรรมชาติ LNG น้ำมันดิบจากต่างประเทศ เป็นการพึ่งพาพลังงานตนเอง สร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศไทย

2.อัดเงิน Digital Wallet 10,000 บาท กระตุ้นเศรษฐกิจเป็นหนึ่งในนโยบายที่น่าสนใจอย่างยิ่ง หากแต่การประเมินความคุ้มค่า ผลกระทบเชิงเศรษฐกิจที่จะได้รับ และแหล่งที่มาเงินงบประมาณต้องมีความชัดเจนไม่ส่งผลต่อสถานะทางการเงินของประเทศในทุกมิติ การสื่อสารนโยบายที่สร้างความเข้าใจที่ดีให้ประชาชนได้ทราบ กลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจนหากงบประมาณมีจำกัดควรทำในกลุ่มเปราะบางให้ความช่วยเหลือก่อน อาทิ แรงงานนอกระบบ เป็นต้น รูปแบบและสัดส่วนการกระจายรายได้ให้สินค้า บริการของท้องถิ่น กลุ่มเอสเอ็มอี เกษตรกร วิสาหกิจชุมชน สหกรณ์ และกลุ่มผู้ประกอบการเปราะบาง เป็นต้น จะทำให้ชุมชนในแต่ละท้องถิ่นได้รับประโยชน์อย่างทั่วถึง ส่วนการกำหนดขอบเขตพื้นที่การใช้งานไม่ควรระบุรัศมีใช้งานเพราะประชาชนจำนวนมากที่เป็นกลุ่มเป้าหมายเป็นแรงงานนอกพื้นที่ หรือทำงานนอกพื้นที่ที่อยู่อาศัยตามบัตรประชาชน รวมทั้งทักษะดิจิทัลของประชาชนที่ต้องสร้างความรู้ความเข้าใจให้มีความสามารถใช้ประโยชน์ดิจิทัลเทคโนโลยีอย่างรู้เท่าทัน ทั้งนี้ การดำเนินการนโยบายดังกล่าวจะต้องมีแผนที่ขับเคลื่อนในระยะยาวเพื่อต่อยอด Digital wallet ไปสู่ Digital mSMEs – Workforce Wallet พัฒนาขีดความสามารถผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและแรงงาน จูงใจเข้าระบบ เครดิตสกอร์ริ่ง จ้างงาน จับคู่งานและ Digital Student Wallet ส่งเสริมการพัฒนายกระดับการศึกษา ทักษะอนาคตให้เยาวชนมีขีดความสามารถเพิ่มขึ้น เป็นต้น

3.อุ้มพักหนี้เกษตรกรและเอสเอ็มอี งบประมาณที่จะนำมาใช้ในมาตรการดังกล่าวต้องคำนึงถึงการพักควบคู่กลไกการพัฒนาที่ต้องทำไปพร้อมกัน พร้อมกับการแก้หนี้ครัวเรือนในการพัฒนาคุณภาพหนี้ บ่มเพาะทักษะการบริหารจัดการทางการเงิน เพื่อลดหนี้เสีย และหนี้นอกระบบอย่างต่อเนื่อง โดยต้องพิจารณากลุ่มเป้าหมายที่จะดำเนินการ เช่น กลุ่ม SM หรือ Special mention และกลุ่ม NPLs (เกิน 90 วัน) และต้องมีกลไกที่มีเจ้าภาพรับผิดชอบ ดำเนินการ เชื่อมโยง ประสานงาน มีอำนาจในการตรวจสอบ ติดตาม ประเมินผลและพัฒนาอย่างเป็นระบบ

นอกจากนั้น มาตรการที่จำเป็นและมีความสำคัญในการทบทวนเร่งแก้ไขปัญหาต้องประเมินและหาแนวทางลดผลกระทบอย่างจริงจังใน 4 ด้าน ได้แก่

1.ล้งต่างชาติ และเช่าที่เกษตรจ้างผลิต เป็นกับดักที่ทำให้กลไกการตลาด ราคา อำนาจการต่อรองของเกษตรกร ผู้ประกอบการไทยลดลง ตัดวงจร Supply chain ไทย และเพิ่มบทบาทการพึ่งพารูปแบบธุรกิจมาผูกขาดกับต่างชาติ

2.ทัวร์ศูนย์เหรียญ ฟื้นคืนชีพ ท่องเที่ยวไทย คนไทยได้อะไร ไม่ว่าจะเป็นบริษัทนำเที่ยว มัคคุเทศก์ ร้านอาหาร แหล่งช้อปปิ้ง ร้านค้าขายของฝาก ของที่ระลึก ที่พัก โรงแรมที่ล้วนเป็นเครือข่ายต่างชาติ 3.ห้างต่างชาติรุกไทย ค้าปลีก ค้าส่ง ออนไลน์ ขายตรงส่งถึงบ้าน นอกจากนั้นยังมีผู้ประกอบการต่างชาติเข้ามาประกอบธุรกิจร้านขายส่ง ขายปลีกสินค้านำเข้าราคาถูกมาขายในย่านเศรษฐกิจค้าส่งปลีกของไทย ซึ่งการนำเข้าจัดเก็บภาษีถูกต้องหรือไม่

4.ส่งเสริมการลงทุนต่างชาติ สิทธิประโยชน์กับผลลัพธ์ที่ประเทศได้คุ้มค่าหรือไม่ บางรายที่มาทั้งวัสดุก่อสร้าง คนงานก่อสร้าง ผู้ประกอบการ Supply chain เครื่องจักร อุปกรณ์การผลิต แม้แต่ร้านอาหารก็เข้ามา เพียงมาใช้ที่ดินกับคนไทยเพียงน้อยนิดในการประกอบธุรกิจ แต่ธุรกิจเอสเอ็มอีเราส่งเสริมการลงทุนอย่างไร กระจัดกระจาย ต่างคนต่างทำ ขาดการเชื่อมโยงนโยบาย มาตรการ งบประมาณ ตัวชี้วัดผลลัพธ์

“เรื่องใดที่ประเทศและประชาชนเขาเสียประโยชน์เขายอมให้เราทำหรือไม่ เราทำแบบเดียวกันในประเทศเขาได้หรือไม่ ถ้าไม่ได้ทำไมกลไกการป้องกัน แก้ไขปัญหาของเราถึงปล่อยเป็นแบบนี้แล้วต่อไปเราจะวางเศรษฐกิจฐานรากของคนไทยไว้บนพรมหรือใต้พรม เราอยากเห็นความเป็นธรรมทางการค้าที่ไม่ใช่ส่งเสริมธุรกิจต่างชาติจนหลงลืมคุณค่าของผู้ประกอบการคนไทย ภาคแรงงานไทยที่ต้องเร่งยกระดับขีดความสามารถ สร้างสรรค์การแข่งขันในระดับอาเซียน เวทีโลกอย่างต่อเนื่อง ประเทศไทยถึงเวลาหรือยังที่จะยกระดับการแข่งขันทางการค้าเสรีที่เป็นธรรมกับผู้ประกอบการ แรงงานและประชาชนคนในชาติ” นายแสงชัยกล่าว

แชร์

Share on facebook
Facebook
Share on twitter
Twitter
Translate »